แสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง ” ฆ่าสัตว์ทำบุญ”

โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา ปจฺฉา โส นปฺปมชฺชติ โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโต ว จนฺทิวาติ
ณ บัดนี้อาตมาภาพจักได้บรรยายขยายเนื้อความแห่งพุทธภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นใน ปมาทวรรค เพื่อเป็นเครื่องฉลองศรัทธาบารมี เพิ่มกุศลบุญราศีแด่ญาติโยมสาธุชนคนใจบุญทั้งหลาย ที่ได้มาร่วมกันทำบุญ รักษาศีล เจริญสมาธิ ในวันธรรมสวนะนี้
ความว่า เมื่อก่อนประมาท ภายหลังไม่ประมาท เขาชื่อว่ายังโลกนี้ให้สว่าง เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ฉะนั้น คนเรานั้น ท่านแบ่งตามความประพฤติไว้เป็น ๔ ประเภท คือ ๑. ต้นตรง ปลายคด ๒. ต้นคด ปลายตรง ๓.ต้นตรง ปลายตรง ๔.ต้นคด ปลายคด คำว่า ตรง ในที่นี้

หมายถึง คนที่ประพฤติดี ส่วนคำว่า คด หมายถึง คนที่ประพฤติชั่ว ในคนคนหนึ่ง ตั้งแต่เกิดจนถึงชราและตายจากไป อาจมีความประพฤติทั้งดีและชั่วปะปนกันไป บางคนตอนปฐมวัย หรือมัชฌิมวัยเป็นคนดี แต่มาเสียตอนปัจฉิมวัย กลายเป็นคนเลวไปก็มี บางคนก็อาจจะเป็นคนเลวในตอนแรก แต่มากลับตัวได้ตอนแก่ก็มี บางคนก็อาจจะดีเสมอต้นเสมอปลายก็มี และบางคนอาจจะชั่วช้าสามานต์จนตลอดชีวิตก็มี สำหรับคนที่ทำชั่วในตอนแรก แล้วกลับตัวเป็นคนดีในตอนหลังได้ ท่านถือว่า เป็นคนที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง เป็นคนที่ทำให้โลกนี้ปราศจากปัญหา และมีความน่าอยู่น่าอาศัย ลักษณะนี้แหล่ะที่ท่านเรียกว่า ทำให้โลกสว่างไสว ส่วนคนที่ทำดีอยู่แล้ว กระทำดีอยู่เสมอก็น่ายกย่องยิ่งกว่า และยิ่งขึ้น เหตุเพราะเขามั่นคงในคุณความดีที่เขาได้สร้างมา ส่วนคนที่ทำดีตอนต้น แต่มาเสียภายในหลัง หรือกลายมาเป็นคนไม่ดี คนชั่ว บุคคลเช่นนี้เขาเรียกว่า เป็นบุคคลที่โลเล ไม่มั่นคง ไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนกระทำไว้ดีแล้ว จึงกลายเป็นคนเสียคน เสียยิ่งกว่าคนที่ทำความชั่วในตอนต้น แต่กลับตัวมาเป็นคนดีในภายหลัง และเรื่องของความเชื่อก็เช่นกัน เชื่อว่า การทำบุญ ย่อมได้บุญ เช่นการให้ทาน บริจาคทาน การรักษาศีล ๕ ศีล ๘ การนั่งสมาธิ ถ้าจะว่ากันจริง ๆ การบริจาคก็คือการให้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร แต่เราให้ด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งของที่ให้เป็นของที่บริสุทธิ์ ไม่ฉกชิงเอาของของคนอื่นมาให้ และของที่ให้นั้นมีประโยชน์ ไม่เป็นโทษต่อผู้รับ การให้คือการสละ การล่ะ การปล่อย การแบ่งปัน เป็นเบื้องต้นของการทำบุญที่ทำได้โดยง่าย บางคนอาจจะทำง่าย แต่บางคนที่ไม่เคยทำก็อาจจะทำได้ยากเช่นกัน เหตุเพราะ สิ่งนี้ก็ของฉัน สิ่งนั้นก็ของฉัน น่าเสียดาย ไม่ให้ดีกว่า คิดไปคิดมา ก็เลยคิดไม่ตก ก็เลยไม่สามารถให้ได้ ไม่สามารถละได้ ส่วนการรักษาศีล ศีลในเบื้องต้นคือ ศีล ๕ ข้อ บางคนทำได้ทุกข้อ แต่ขอเว้นไว้บางข้อ เช่น รักษาศีลได้ตั้งแต่ข้อ ๑-๔ เว้นข้อ ๕ ไว้แล้วนั้นเนาะ มันอดไม่ได้ มันติดแล้ว ขอเว้นไว้สักข้อแล้วกัน ปรากฏว่า พอแต่กินสุรา เข้าไปเท่านั้นแหล่ะ พ่อคุณเอ้ย ศีลข้อ ๑-๔ ที่รับมาอันตทานหายไปโดยเร็วพลัน เหตุมีอยู่ว่า พอเหล้าเข้าปาก พ่อก็มากไปด้วยความเก่ง กล้า ซ่า ทำได้ทุกอย่าง จากที่เคยเป็นคนสงบเงียบ ไม่กล้าพูด ก็ดันพูดเอะอะโวยวาย ส่งเสียงดัง แถมยังไปมีเรื่องกับเพื่อนที่กินเหล้าด้วยกัน เกิดตีกันขึ้น จากนั้นก็หนีหัวซุกหัวซุน ไปเจอเมียชาวบ้าน เห็นสวยดี ก็เลยเล่นซะหน่อย ตื่นขึ้นมาอีกที่กระเป๋าตั้ง สร้อยแหวน นาฬิกา หายวับไม่เหลือ โซเซกลับบ้าน ก็แอบย่อง ๆ เข้าบ้าน เพื่อไม่ให้เมียเห็นว่า เมื่อคืนแอบไปกินเหล้าเค้านารีมา และโดยส่วนใหญ่คนที่กินเหล้าแล้ว ถ้ามันตื่นมาแล้วไม่ส่าง มันก็ต้องถ่อน เงินก็หมดแล้ว ก็เลยแอบขโมยเงินเมียไปถอนอีก อันนี้เขาเล่ามาอีกที ก็เลยเล่าให้ฟัง สรุปหมดกันศีล ๕ ข้อ และมีความเชื่ออีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่อง การฆ่าสัตว์ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว คืนในครั้งก่อนโน้น มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งให้พวกศิษย์ไปจับแกะมาตัวหนึ่ง แล้วฆ่าเพื่อนำไปทำบุญเลี้ยงพวกพราหมณ์และแบ่งส่วนบุญให้แก่หมู่ญาติที่ตายไป แต่ยังไม่ทันได้ฆ่า ปรากฏว่า แกะตัวนั้นได้หัวเราะขึ้นดัง ๆ แล้วก็ร้องไห้ออกมา ลูกศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์จึงได้ถามขึ้นว่า เหตุไรเจ้าจึงหัวเราะ แล้วก็ร้องไห้ แกะก็ตอบว่า เมื่ออยากรู้พวกเจ้าจงพาเราไปหาอาจารย์ของพวกเจ้า พวกศิษย์ก็พาแกะนั้นไปหาอาจารย์ จากนั้นอาจารย์ก็ถามอย่างที่ลูกศิษย์ถาม แกะตัวนั้นก็ตอบว่า เมื่อชาติก่อนโน้นนานนักหนา ตัวข้าเคยเกิดเป็นอาจาย์ทิศาปาโมกข์เหมือนกับท่าน ได้ฆ่าแกะตัวหนึ่งทำบุญให้หมู่ญาติที่ตายไป ต่อแต่นั้นมาตัวข้าก็ได้ถูกฆ่าตัดหัวมาถึง ๕๐๐ ชาติ และในชาตินี้ตัวข้าจะสิ้นบาปกรรมในวันนี้ จึงได้หัวเราะขึ้น ที่ข้าร้องไห้นั้นก็เพราะว่า เอ็นดูท่านที่จะมารับบาปเหมือนข้าพเจ้า เมื่อพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ได้ฟังดังนั้น ก็ตกใจกลัว จึงประกาศออกไปดัง ๆ ว่า เจ้าแกะเอ๋ยเจ้าจงเบาใจเถิด เราจะไม่ฆ่าเจ้าเป็นอันขาด แกะนั้นจึงตอบว่า ท่านจะฆ่าข้าหรือไม่ก็ตาม ข้าก็จะไม่พ้นตายในวันนี้ พราหมณ์ทิศาปาโมกข์จึงกล่าวว่า เราจะคอยระมัดระวังในตัวเจ้า ไม่ให้ใครมาทำร้ายเจ้าได้ ว่าแล้วก็ปล่อยแกะตัวนั้นไป แล้วพราหมณ์ก็พาลูกศิษย์เดินตามไประวังรักษาแกะตัวนั้น เดี๋ยวมันจะตาย แกะตัวนั้นได้ชะเง้อคอขึ้นไปกินใบไม้ที่พึ่งงอกอยู่บนกำแพงแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นฟ้าก็ได้ผ่าลงมาถูกตัวแกะจนคอขาดทันที เทวดาองค์หนึ่งซึ่งอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ได้แสดงตัวให้เห็นแล้วกล่าวขึ้นว่า ถ้ารู้ว่าการเกิดเป็นทุกข์ ก็ไม่ควรฆ่าใคร เพราะการฆ่าผู้อื่นย่อมทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ และทำให้ตนเองได้รับทุกข์ตลอดกาลนาน ดังนี้ มาชาติสุดท้ายรุกขเทวดาได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การฆ่าผู้อื่นเป็นการไม่ดีเลย มีนัยดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้
พุทฺธานุภาเวน ธมฺมานุภาเวน สงฺฆานุภาเวน ด้วยอนุภาพแห่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และบุญกุศล ขอท่านสาธุชนคนใจบุญทั้งหลาย จงมีแต่ความสุข ความเจริญ และจงคลาดแคล้วจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ประสงค์สิ่งใด อันไม่เหลือวิสัยสามารถที่ปรารถนา ขอสำเร็จดังประสงค์จงทุกประการ
เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้

เรียบเรียงโดย สิรินฺธโรภิกฺขุ ๔ มีนาคม ๒๔๖๐