ภาวนา (ปฏิบัติธรรม) กรรมฐาน

คำว่า ภาวนา เป็นคำที่ใช้ในการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม ปฏิบัติสมาธิทั้งในอดีต และปัจจุบันคำนี้ก็ยังมีใช้อยู่ จากการที่ได้ศึกษารายงานวิจัย เรื่อง สำนักวิปัสสนาสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ผลงานวิจัยย้อนหลังปี พ.ศ. 2549) ของท่านอาจารย์ รองศาสตราจารย์สุเชาวน์ พลอยชุมแล้ว ซึ่งท่านได้กล่าวถึงบริบทของการศึกษาของพระภิกษุในสมัยพุทธกาลไว้ว่า พระภิกษุจะต้องทำการศึกษาไตรสิกขา หรือที่เรียกว่า สิกขา ๓ ได้แก่ อธิศีลสิกขา ศึกษาเรื่องศีล อธิจิตตสิกขา ศึกษาเรื่องจิต และอธิปัญญาสิกขา ศึกษาเรื่องปัญญา สรุปรวมเรียกว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” รวมถึงยังมุ่งเน้นให้พระภิกษุทำการศึกษาอย่างจริงจัง และลงมือปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จ หรือบรรลุผลตามเป้าหมาย ดังคำอธิบายในคัมภีร์มหานิทเทสว่า

“พระสงฆ์ทั้งหลาย คำนึ่งถึงไตรสิกขานี้ศึกษาอยู่ รู้ศึกษาอยู่ อธิษฐานจิตศึกษาอยู่ น้อมใจ ไปด้วยศรัทธาศึกษาอยู่ ประคองความเพียรศึกษาอยู่ ตั้งสติไว้ศึกษาอยู่ ตั้งจิตศึกษาอยู่ รู้ทั่วด้วยปัญญาศึกษา รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งศึกษาอยู่ ละธรรมที่ควรละศึกษาอยู่ เจริญธรรมที่ควรเจริญ ศึกษาอยู่ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งศึกษาอยู่ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเต็มใจ สมาทานประพฤติไป”

การศึกษาในยุคอรรถกถารวม ๙๐๐ ปีเศษหลังพุทธกาล พระอรรถกถาจัดการศึกษาในพระพุทธศาสนาไว้ ๒ อย่าง คือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ คันถธุระ ได้แก่ การศึกษาพระพุทธพจน์ หรือพระไตรปิฎก ส่วนวิปัสสนาธุระ ได้แก่ การหลีกเร้นไปสู่ที่สงัด เจริญสมถะและวิปัสสนาเพื่อผล คือ พระอรหัตต์ และวิปัสสนาธุระนี้เอง ท่านเรียกว่า กรรมฐาน ดังเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงธุระ ๒ อย่างแก่พระมหาปาละ ๆ กราบทูลว่า ตนบวชเมื่อแก่ คงเรียนคันถธุระไม่ไหว ขอเรียนวิปัสสนาธุระและทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงสอนกรรมฐานแก่ตน พระพุทธองค์ จึงทรงสอนกรรมฐานแก่ พระมหาปาละ อย่างละเอียดถึงพระอรหัตต์ ท่านยังกล่าวอีกว่า คำว่า กรรมฐาน ในความหมายเดิมตามที่ปรากฏในพระบาลี หรือในพระไตรปิฎก หมายถึง การงานทั่วไป ทั้งการงานของคฤหัสถ์ และการงานของบรรพชิต  แต่ที่มีความหมายเฉพาะ คือ ที่หมายถึง การเจริญสมาธิ หรือสมาธิภาวนา และหมายถึงวิปัสสนาธุระนั้น ได้ถือเป็นคำที่นิยมใช้จนมาถึงทุกวันนี้ ตำรากรรมฐานที่นับว่ามีอิทธิพลถือเป็นแบบปฏิบัติกันสืบมาในหมู่ชาวพุทธทั่วไป ก็คือ คัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษะ ซึ่งแต่งขึ้นในยุคเดียวกันกับคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลาย เมื่อมีการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐานแล้วในเบื้องต้น แต่จะมีกรรมฐานที่จะต้องทำให้ถูกนิสัยใจคอ ถูกจริตของบุคคลผู้ฝึกกรรมฐานนั้น ๆ ท่านเรียกว่า กรรมฐาน ๔๐ คือ กสิณ ๑๐ ได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปิตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ปริจฉินนากาสกสิณ, อสุภะ ๑๐ ได้แก่ อุทธุมาตกะ วินีลกะ วิปุพพกะ วิจฉิททกะ วิกขายิตขิกะ วิกขิตตกะ หตวิกขิตตกะ โลหิตกะ ปุฬุวกะ อัฏฐิกะ, อนุสสติ ๑๐ ได้แก่ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ, พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา, อรูป ๔ ได้แก่ อาสานัญจานตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญาตนะ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน กรรมฐานเหล่านี้ก็รวบรวมจัดเป็นแบบแผนขึ้นในยุคอรรถกถาเช่นกัน โดยการรวบรวมมาจากพระพุทธพจน์ที่ทรงสอนไว้ในที่ต่าง ๆ  มาจัดไว้ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกแก่ผู้ศึกษาในเวลาต่อมา

การจัดการศึกษา ทำให้แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสี และพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสี คือ พระสงฆ์ที่อยู่ตามอารามในละแวกบ้าน ที่เรียกว่า วัดบ้าน มีหน้าที่ศึกษาพระคัมภีร์ ที่เรียกว่า คันถธุระ ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี คือ พระสงฆ์ที่อยู่ตามอารามในป่า ที่เรียกว่า วัดป่า มีหน้าที่ ศึกษาและปฏิบัติกรรมฐาน ที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ ซึ่งการแบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๒ ฝ่ายนั้น ได้มีการแบ่งตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในลังกา หรือมามีขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ก็ไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด แต่มีข้อสังเกตจากนามสมณศักดิ์ที่ไทยได้อย่างมากจากลังกา คือ นามว่า พระวันรัต หรือสมเด็จพระวันรัต ซึ่งแปลว่า ยินดีในป่า ที่ไทยเอามาแปลเป็นชื่อของวัดที่สถิตของพระวันรัต เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า วัดป่าแก้ว เป็นนามของพระวันรัต คือ ประมุขสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีของลังกา หรือที่ไทยเอามาเป็นนามสมณศักดิ์สำหรับเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี ส่วนเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี มีนามว่า พระพุทธโฆษาจารย์

จากประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดราชสิทธาราม ท่านได้กล่าวไว้ว่า ได้ทำการศึกษาวิปัสสนาธุระในยุคกรุงสุโขทัย โดยเรียนสืบทอดกันมาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกว่า กรรมฐานแบบลำดับ ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียให้แก่พม่าครั้งสุดท้าย ได้ทรงนำมาสั่งสอนเผยแพร่แก่ศิษยานุศิษย์ในสำนักวัดพลับ หรือวัดราชสิทธาราม ทำให้ตำรากรรมฐานไม่สูญหายและได้รับการอนุรักษ์ถ่ายทอดกันสืบมาในสำนักวัดราชสิทธารามจนปัจจุบัน ท่านยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีและขั้นตอนการศึกษาปฏิบัติกรรมฐานแบบลำดับไว้ดังนี้

การมอบตัวต่อพระรัตนตรัย นำเครื่องสักการะพระรัตนตรัย ประกอบไปด้วย ธูป เทียน ข้าวตอก ดอกไม้ อย่างละ ๕ กล่าวคำบูชา พระรัตนตรัย นิยมทำในวันพฤหัสบดี จบแล้ว พระอาจารย์เทศน์ขี้นธรรม (กรรมฐาน) ๑ จบ เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน และทำความเข้าใจ มีความย่อ ๆ ดังนี้ กล่าวถึงการสรรเสริญพระพุทธคุณแล้วเกิดปีติ เกิดความสงบ (ยุคล) เป็นสุข มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นต้น การเจริญสมาธิเบื้องสูง ตั้งจิตหาประมาณมิได้ ท่านให้ใช้พระกรรมฐานที่เป็นอัปปมาณมีปฏิภาคนิมิตด้วย เรียบลำดับดังนี้ อานาปานสติ กายคตาสติ กสิณสิปประการ และอสุภกรรมฐาน การขึ้นองค์ฌาน ทำสมาธิอารมณ์ให้ขยายตัวมีอารมณ์กว้างขวาง เป็นอัปปมาณารมณ์ ท่านให้ขึ้นองค์ฌานต่อจากอสุภกรรมฐานองค์แห่งวิตก มีกำลังมากจิตสามารถยกขึ้นสู่องค์ฌานได้ง่าย และให้เรียนเอายังฌานปัญจกนัย คือ ฌาน ๕ ประการ ฌานนี้ใช้สำหรับฝึกผู้ที่ยังไม่ชำนาญในองค์ฌาน เมื่อชำนาญแล้วจึงทำเป็นฌานจตุกนัย คือฌาน ๔ (จบรูปกรรมฐาน) ก่อนขึ้นวิปัสสนากรรมฐาน ท่านให้เรียนเอายังอรูปกรรมฐาน คือ อนุสสติ ๖ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔ เพื่อให้จิตชำนาญอยู่กับสภาวธรรม เมื่อขึ้นสู่วิปัสสนาภูมิแล้ว ปัญญาวิปัสสนาจะแก่กล้า การขึ้นสู่วิปัสสนาภูมิ ให้เรียนเอายังพระวิสุทธิ ๗ ประการ พระวิปัสสนาญาณสิบประการ พระโพชฌงค์สามสิบเจ็ดประการ ต่อด้วยดอกบัวบานพรหมวิหารหรือที่เรียกว่า เมตตาเจโตวิมุตติ เป็นอันจบวิธีและขั้นตอนการเจริญกรรมฐานแบบดั้งเดิมของสำนักอรัญวาสี ในช่วยสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้มีการสังคายนาพระกรรมฐาน สืบเนื่องมาจากปี พ.ศ. ๒๓๖๔ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ งูน้ำกัดคนตายมาก ข้าวยากหมากแพง มีการตุ้มตุ๋นโดยเอาพระกรรฒบานมาบังหน้า ด้วยวิธะการและแบบแผนที่วิปริตต่างๆ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงปรึกษา สมเด็จพระสัฆราช (สุก ญาณสังวร) เรื่อง พระสงฆ์ ฆราวาส ปะขาว ชี ประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานกันนอกลู่นอกทาง จึงได้มีการทำสังคายนาเกิดขึ้น โดยมีการสอบจิต สอบอารมณ์ สอบวิธีกรรมฐาน ณ พระที่นั่งบรมจักรพรรดิพิมาน หลังจากนั้นมาถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้มีการฟื้นฟูวิปัสสนาธุระ ในคณะธรรมยุตขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ โดยมีสำนักวัดสมอราย กับสำนักวัดราชสิทธารามเป็นหลัก และได้ทรงฟื้นฟูและส่งเสริมการศึกษาวิปัสสนาธุระ ตามแนวทางที่ได้ทรงศึกษาไตร่ตรองจากพระไตรปิฎกประกอบกับที่ได้ทรงศึกษาจากครูอาจารย์ที่ทรงเคารพนับถือ โดยพระองค์เองได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง พร้อมทั้งสั่งสอนศิษย์และทรงพระราชนิพนธ์ตำราเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐานไว้สั่งสอนศิษย์หลายเรื่อง เช่น วิปัสสนาวิธี วิปัสสนากรรมฐาน อารักขกรรมฐานสี่ พรหมจริยกถา เป็นต้น ขณะที่ทรงผนวชอยู่ ได้ทรงนำศิษย์ของพระองค์ออกธุดงค์กรรมฐานไปตามป่าเขาในหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อแสวงหาที่วิเวกเจริญสมาธิภาวนาอยู่เสมอ ดังนั้น พระเถระธรรมยุตยุคแรก ๆ ซึ่งล้วนเป็นศิษยานุศิษย์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงมีปฏิปทาเป็นพระกรรมฐานเป็นส่วนมาก เช่น สมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัสวิหาร พระพันธุโล (ดี) วัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานี พระเทวธัมมี (ม้าว) วัดศรีทอง อุบลราชธานี พระอมราภิรักขิต (เกิด วัดบรมนิวาส พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) วัดบรมนิวาส พระครูศิริปัญญามุนี (อ่อน) วัดเทพนิมิต ฉะเชิงเทรา พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อุบลราชธานี และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดเลียบ อุบลราชธานี เป็นต้น

จากที่ได้ศึกษาประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านเกิดในสกุล “แก่นแก้ว” เมื่อวันพฤหัสบดี เดอนยี่ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ ที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้อง ๙ คน ท่านเป็นคนร่างเล็ก มีนิสัยเข้มแข้งว่องไว สติปัญญาเฉลียวฉลาดตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรไทยน้อยในสำนักของอา เมื่ออายุ ๑๕ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านคำบง ท่านมีความสนใจในการศึกษาธรรมะ เรียนสูตรต่าง ๆ ในสำนักอาจารย์ได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อบวชเป็นสามเณรได้ ๒ ปี มารดาได้ขอร้องให้ท่านลาสิกขาออกมาช่วยทางบ้าน ครั้นอายุ ๒๒ ปี ท่านได้เข้าศึกษาในสำนักของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (ปัจจุบัน คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยพระอุปัชฌาย์ให้นามฉายาว่า “ภูริทตฺโต” แปลว่า ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด” เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้กลับมาอยู่ศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดเลียบต่อไป ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ พระอาจารย์เสาร์ ได้พาท่านไปปฏิบัติธรรมที่ภูหล่น (เป็นสถานที่ซึ่งท่านใช้เป็นที่เจริญภาวนาแห่งแรก) อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี และจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงถึงหลวงพระบาง พระอาจารย์มั่นได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้งหุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๗ อายุพรรษาได้ ๑๔ จึงลงไปศึกษากับพระเถระในกรุงเทพ คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนารามเป็นเวลา ๓ พรรษา  ระหว่างนั้นท่านได้ไปศึกษาธรรมกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ณ วัดบรมนิวาสเป็นประจำ แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ จังหวัดนครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต จังหวัดลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย จึงได้เดินทางกลับภาคอีสาน และเทศนาอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่สหธรรมมิก และอุบาสกอุบาสิกา มีผู้เลื่อมในปฏิบัติตามมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายากระจายทั่วภาคอีสาน ต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษาแล้ว ไปเชียงใหม่กับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) จำพรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วจาริกไปจำพรรษาตามที่วิเวกต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี แล้วท่านก็ได้ไปจำพรรษาวัดนั้นวัดโน้นเลื่อยไป จนท่านได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต ตั้งแต่อยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) ซึ่งท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ที่นั้นโดยเรียบร้อย แต่เมื่อเดินทางจาก จังหวัดเชียงใหม่มาแล้ว ท่านได้งดหน้าที่นั้น โดยให้เหตุผลว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย ธุดงควัตรที่พระอาจารย์มั่น ถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ข้อ คือ ๑.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั้งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนใช้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย ๒.ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ๓.เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตรเป็นวัตร ในภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัยจึงงด ๔.เอกสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นวัตร แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างจากบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย และคำสอนพร้อมทั้งปฏิปทาของท่านได้มอบไว้ ๒ เรื่อง คือ ขันธวิมุติสะมังคีธรรม ๑ บทธรรมบรรยาย ๑ ท่านเขียนไว้ด้วยลายมือของท่านเอง เรื่องแรกเขียนด้วยอักษรไทย ส่วนเรื่องหลังเขียนด้วยอักษรธรรม หรืออักษรของอีสานโบราณ ส่วนคำสอนที่อยู่ในลักษณะที่เป็นคำสอนที่ศิษยานุศิษย์บันทึกไว้ คือ ๑. มุตโตทัย พระภิกษุวิริยังค์ (ปัจจันคือ พระเทพเจติยาจารย์ วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ) กับพระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส เป็นผู้บันทึก ๒.ธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส กับพระภิกษุวัน อุตฺตโม (คือ พระอุมสังวรวิสุทธิเถร) เป็นผู้บันทึก เรื่องที่ ๑ ขันธวิมุตติสะมังคีธรรม เป็นการเขียนในลักษณะที่เป็นทำนองร่ายกลายๆ เช่น “๑.ถามว่า ขันธ์ ๕ ใครพ้น ใครเกี่ยวพัน ใครหลง ตอบว่า ใจพ้น ใจเกี่ยวกัน ใจหลงไปตามสัญญา ๒. ถามว่า ใครตาย ใครต่อ ใครเวียน ตอบว่า สังขารตาย สัญญาพาให้ต่อพาให้เวียน” เป็นต้น

สรุปประเด็น

การศึกษาทางพระพุทธศาสนา ถูกแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ จะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจในพระพุทธศาสนา แนวทางในการลงมือปฏิบัติ การศึกษาเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวคือ ในเบื้องต้นเราต้องรู้จักเกี่ยวกับศีล ว่ามีข้องดเว้น หรือข้อที่ควรจะปฏิบัติอย่างไร สิ่งไหนควรเว้น สิ่งไหนควรปฏิบัติ การที่เราจะลงมือปฏิบัติได้นั้น จะต้องมีครูบาอาจารย์คอยให้คำแนะนำสั่งสอน ทำความศึกษาให้รอบได้เสียก่อน แล้วค่อยลงมือปฏิบัติ รวมถึงร่วมเดินทางไปกับครูอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติเป็นแรม ๆ ปี ฝึกจนชำนาญ มีการศึกษาทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ มีการสอนอารมณ์ รวมถึงการนำวิธีการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ตามลักษณะนิสัย เช่น กสิณ อสุภะ อานาปานสติ เป็นต้น ศึกษาจนถึงขั้นสูงสุด แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาแจ้ง แสดง เทศน์ เหมือนกับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ท่านได้ทำความศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา การดำรงอยู่ในสมณะธรรม การถือข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด การแสวงหาโมกขธรรม ในที่อันสงบ สงัด ห่างไกลจากบ้านเรือน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับให้เรียบร้อย พอถึงเวลาอันสมควร ก็ละงดเว้น แต่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น ก็รวมลงในที่เดียว คือ ตัวเรานี่เอง เป็นการศึกษาขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มีใจเป็นนาย มีกายเป็นบ่าว เมื่อฝึกดีแล้วย่อมพ้น