บารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง, บารมีที่พระโพธิสัตว์
ต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์ จึงจะบรรลุโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า มี ๑๐ คือ
๑. ทาน คือ การให้ การเสียสละเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์สรรพสัตว์
๒. ศีล คือ ความประพฤติถูกต้องสุจริต
๓. เนกขัมมะ คือ ความปลีกออกจากกามได้ไม่เห็นแก่การเสพบำเรอ, กล่าวคือการออกบวช
๔. ปัญญา คือความรอบรู้ เข้าถึงความจริงรู้จักคิดพิจารณาแก้ไขปัญหาและดำเนินการจัด
การต่าง ๆ ให้สำเร็จ
๕. วิริยะ คือ ความเพียรแกล้วกล้า บากบั่นทำการ ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่
๖. ขันติ คือ ความอดทน ควบคุมตนอยู่ได้ธรรม ในเหตุผล และในแนวทางเพื่อจุดหมายอันชอบ ไม่ยอมลุอำนาจกิเลส
๗. สัจจะ คือ ความจริง ชื่อสัตย์ จริงใจ จริงจัง
๘. อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่น ตั้งจุดหมายไว้ดีงาม ชัดเจนและมุ่งไปเด็ดเดี่ยว แน่วแน่
๙. เมตตา คือ ความรักความปรารถนาดี คิดเกื้อกูลหวังให้สรรพสัตว์อยู่ดีมีความสุข
๑๐. อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลางอยู่ในธรรม เรียบสงบ สม่ำเสมอ ไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวไปด้วยความยินดียินร้าย ชอบชัง หรือแรกเย้ายวนยั่วยุใด ๆ
บารมี ๑๐ นั้น จะบริบูรณ์ต่อเมื่อพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญแต่ละบารมีครบสามขั้นและสามระดับจึงแบ่งบารมีเป็น ๓ ระดับ คือ
๑. บารมี คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ขั้นต้น
๒. อุปบารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่าง ยิ่งยวดขึ้นจวนสูงสุด ๓. ปรมัตถบารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ขั้นสูงสุด
เกณฑ์ในการแบ่งระดับของบารมีนั้น มีหลายแง่หลายด้าน ขอยกเกณฑ์อย่างง่าย มาให้ทราบพอเข้าใจ เช่น ในข้อทาน สละทรัพย์ ภายนอกทุกอย่างได้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นทานบารมี สละอวัยวะเพื่อประโยชน์ แก่ผู้อื่น เป็นทานอุปบารมี สละชีวิตเพื่อ ประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นทานปรมัตถบารมี
บารมีในแต่ละขั้นมี ๑๐ จึงแยกกันเป็น บารมี ๑๐ (ทศบารมี) อุปบารมี ๑๐ (ทศอุปบารมี) และปรมัตถบารมี ๑๐ (ทศปรมัตถบารมี) รวมทั้งสิ้นเป็นบารมี ๓๐ เรียกเป็นคำศัพท์ว่า สมดึงสบารมี (หรือ สมติงสบารมี) แปลว่า บารมีสามสิบถ้วน หรือบารมีครบเต็มสามสิบ แต่ในภาษาไทย บางที่เรียกสืบ ๆ กันมาว่า “บารมี ๓๐ ทัศ“